เชื่อว่าหลายคนคงมีการวางแผนการเดินทาง บ้างก็ไปเที่ยว บ้างก็กลับบ้านที่ภูมิลำเนากัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนจะออกเดินทาง ควรสำรวจความเรียบร้อยภายในบ้านให้ดีๆ อย่างเช่นเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้า วันนี้เรามีข้อมูล 7 อย่างมาฝากทุกท่านกัน ไปดูกันเลย
1.ระบบไฟฟ้า - เช็คระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น สายไฟเก่า ชำรุด ฉนวนฉีกขาด แม้จะพันเทปพันสายไฟเอาไว้ ก็ควรเปลี่ยนใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรขณะที่เราไม่อยู่บ้าน ควรตรวจเช็คสภาพตู้ไฟฟ้าว่ายังอยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ เช่น ไม่มีจุดชำรุด แตกหัก ไม่มีสิ่งสกปรก บางบ้านอาจยังใช้คัทเอาท์รุ่นเก่ายิ่งควรตรวจเช็คสภาพให้ดี เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้น และไม่มีใครอยู่บ้านอาจเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ได้
2.ปลั๊กที่ใช้พ่วงอุปกรณ์ - ไม่ควรเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้กับปลั๊กรางหรือปลั๊กพ่วง ยิ่งหากเป็นแบบที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยแล้วยิ่งต้องระวังให้มาก เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดไฟกระชากหรือไฟช็อตเมื่อไร ถ้าจำเป็นต้องต่อพ่วงอุปกรณ์ไฟฟ้า ควรต้องซื้อ “ปลั๊กกันไฟกระชาก” มาใช้จะดีกว่า โดยควรเลือกแบบที่มีสวิตช์ เปิด-ปิด ตัวเดียวจะป้องกันได้ดีกว่าแบบมีสวิตช์จำนวนมาก เต้าเสียบต้องแน่น ควรเลือกแบบที่กันไฟกระชาก 10 เท่า วัสดุต้องผลิตจากวัสดุไม่ลามไฟ (ABS) จึงจะวางใจได้
3.ตู้เย็น - เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เก็บอาหารสดเอาไว้ ควรพยายามจัดการให้หมดก่อนจะไม่อยู่บ้าน เพราะเมื่อเกิดไฟดับระหว่างไม่อยู่บ้าน กลับมาอาจต้องล้างตู้เย็นกันยกใหญ่เป็นแน่ อีกข้อหนึ่งเพื่อเป็นการปกป้องตู้เย็นไม่ให้เสียหายจากไฟกระชาก คือการใช้ปลั๊กป้องกันไฟกระชากมาต่อตรงกับปลั๊กไฟของบ้าน และให้ตู้เย็นต่อพ่วงจากปลั๊กกันไฟกระชากอีกที จะช่วยยืดอายุการใช้งานของตู้เย็นได้
4.ระบบรักษาความปลอดภัย - ตรวจสอบสัญญาณกันขโมย รวมไปถึงระบบกล้อง IP Camera (กล้องที่สามารถดูผ่านเครือข่ายไร้สายได้) ระบบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ควรให้มั่นใจว่ายังสามารถใช้งานได้อยู่ และสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของเราได้ตลอดเวลา
5.จัดการอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ - ทีวี อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่ไม่จำเป็นควรถอดปลั๊กออกทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน เพราะหากเราไม่ถอดออก เครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะยังมีไฟเลี้ยงอ่อนๆ อยู่ ถึงแม้ว่าอาจหมายถึงค่าไฟฟ้าเพียงจำนวนน้อยนิดก็ตาม แต่หากเป็นเหมือนกันทุกบ้าน ประเทศในภาพรวมก็จะสูญเสียพลังงานมากมาย สู้เราช่วยชาติ ให้เก็บไว้ใช้ยามจำเป็นดีกว่า
6.สร้างกลุ่มโซเชียลเพื่อนบ้าน - เรามาสู่ยุคดิจิทัลกันแล้ว นอกจากการฝากบ้านไว้กับตำรวจ เราเองยังสามารถฝากบ้านไว้กับเพื่อนบ้านได้ โดยสามารถติดต่อผ่านทางสื่อโซเชียลต่างๆ อาทิ ทางไลน์ หรือ ทางเฟสบุค
7.ฝากบ้านไว้กับเทคโนโลยี – การใช้เทคโนโลยีโฮมออโตเมชั่น เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับบ้านขณะที่เราไม่อยู่ เช่น การตั้งเวลาหรือสั่งเปิด/ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นสัญญาณว่ามีคนอยู่บ้าน เช่น การตั้งเวลาเปิด/ปิดไฟ ให้สว่างในบางจุด เป็นกลลวงให้โจรคิดว่าเราอยู่บ้าน ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำได้ รวมไปถึงยังมีอุปกรณ์ไฮเทคเช่นอุปกรณ์รดน้ำสนามหญ้าอัตโนมัติ ให้อาหารปลาอัตโนมัติ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนได้
ที่มา http://www.kanomjeeb.com/article-details.php?item=8507
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น